- Advertisement -
26.8 C
Bangkok

ข้อบังคับของสมาคมผู้สื่อข่าวรถยนต์และรถจักรยานยนต์ไทย

หมวดที่ 1 ความรู้ทั่วไป

ข้อ 1. สมาคมนี้มีชื่อว่า “สมาคมผู้สื่อข่าวรถยนต์และรถจักรยานยนต์ไทย”

ย่อว่า สรยท.

         เรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า THAI AUTOMOTIVE JOURNALISTS ASSOCIATION         

ย่อว่า TAJA

ข้อ 2. เครื่องหมายของสมาคมมีลักษณะเป็นรูป ปลายปากกามีล้อ 2 ล้อสีน้ำเงิน มีลักษณะกำลังเคลื่อนที่ไปข้างหน้าบนพื้นสีขาว ภายในปลายปากกามีอักษรย่อภาษาไทย                   อ่าน ว่า “สรยท” และภาษาอังกฤษ อ่านว่า “TAJA” 

         ด้านล่างเครื่องหมายมีข้อความภาษาไทยตัวพิมพ์สีน้ำเงินอ่านว่า “สมาคมผู้สื่อข่าวรถยนต์และรถจักรยานยนต์ไทย” และข้อความภาษาอังกฤษตัวพิมพ์สีขาวบนพื้น                     สีน้ำเงิน อ่านว่า “THAI AUTOMOTIVE JOURNALISTS ASSOCIATION” 

รูปของเครื่องหมายสมาคม

เครื่องหมายสมาคมผู้สื่อข่าวรถยนต์และรถจักรยานยนต์ไทย

ข้อ 3. สำนักงานของสมาคมตั้งอยู่ ณ 105/1 ห้อง B301/1 อาคารบองมาเช่ ถนนเทศบาลสงเคราะห์ แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900

ข้อ 4. วัตถุประสงค์ของสมาคม เพื่อ

    4.1 เพื่อเป็นศูนย์กลางในการแลกเปลี่ยนความรู้ ความคิดเห็น ประสบการณ์ และเผยแพร่ข้อมูล ข่าวสารเกี่ยวกับรถยนต์และรถจักรยานยนต์ระหว่างสมาชิกและบุคคลหรือ                    องค์กรต่างๆ

    4.2 เพื่อเป็นศูนย์กลางในการส่งเสริมและสนับสนุนวิชาชีพ ผู้สื่อข่าวด้านรถยนต์และรถจักรยานยนต์

    4.3 เพื่อเป็นหน่วยงานกลางในการติดต่อประสานงานกับหน่วยราชการองค์กรเอกชนอื่นๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ในการจัดกิจกรรมต่างๆ

    4.4 เป็นหน่วยงานกลางในการติดต่อประสานงานให้แก่ประชาชนที่ได้รับความไม่เป็นธรรมในการใช้สินค้าและบริการที่เกี่ยวข้องกับยานยนต์และรถจักรยานยนต์

    4.5 ส่งเสริมด้านวัฒนธรรมและขนบธรรมเนียมประเพณีที่ดีงามของประเทศไทย

หมวดที่ 2 สมาชิก

ข้อ 5. สมาชิกของสมาคมมี 3 ประเภท คือ

    5.1 สมาชิกสามัญ ได้แก่ ผู้ที่มีอาชีพผู้สื่อข่าวด้านรถยนต์ และรถจักรยานยนต์

    5.2 สมาชิกวิสามัญ ได้แก่ บุคคลผู้สนใจทั่วไป

    5.3 สมาชิกกิตติมศักดิ์ ได้แก่ บุคคลผู้ทรงเกียรติ หรือทรงคุณวุฒิ หรือผู้มีอุปการคุณแก่สมาคม ซึ่งคณะกรรมการลงมติให้เชิญเข้าเป็นสมาชิกของสมาคม

ข้อ 6. สมาชิกจะต้องประกอบด้วยคุณสมบัติ ดังต่อไปนี้

    6.1 เป็นผู้บรรลุนิติภาวะแล้ว

    6.2 เป็นผู้มีความประพฤติเรียบร้อย

    6.3 ไม่เป็นโรคที่สังคมรังเกียจ

    6.4 ไม่ต้องคำพิพากษาของศาลถึงที่สุดให้เป็นบุคคลล้มละลาย หรือไร้ความสามารถ หรือเสมือนไร้ความสามารถ  หรือต้องโทษจำคุก ยกเว้นความผิดฐานประมาท หรือ                    ลหุโทษ การต้องคำพิพากษาของศาลถึงที่สุด

          ในกรณีดังกล่าวจะต้องเป็นในขณะที่สมัครเข้าเป็นสมาชิกหรือในระหว่างที่เป็นสมาชิกของสมาคมเท่านั้น

ข้อ 7. ค่าลงทะเบียน และค่าบำรุงสมาคม

    7.1 สมาชิกสามัญและวิสามัญจะต้องเสียค่าลงทะเบียนครั้งแรก 300 บาท

    7.2 สมาชิกสามัญและวิสามัญค่าบำรุงเป็นรายเดือนๆ ละ – บาท

          ค่าบำรุงเป็นรายปีๆ ละ 100 บาท

    7.3 สมาชิกกิตติมศักดิ์ มิต้องเสียค่าลงทะเบียนและค่าบำรุงสมาชิกแต่อย่างใดทั้งสิ้น

    7.4 รับสมัครสมาชิกภายในเดือนมีนาคม ของทุกปีเท่านั้น

ข้อ 8. การสมัครเข้าเป็นสมาชิกของสมาคม ให้ผู้ประสงค์จะสมัครเข้าเป็นสมาชิกของสมาคมยื่นใบสมัครตามแบบของสมาคมต่อเลขานุการ โดยมีสมาชิกสามัญรับรองอย่างน้อย              1 คน  และให้เลขานุการติดประกาศรายชื่อผู้สมัครสมาชิกไว้ ณ สำนักงานของสมาคม เป็นเวลาไม่น้อยกว่า 15 วัน เพื่อให้สมาชิกอื่นๆ ของสมาคมจะได้คัดค้านการสมัครนั้น          เมื่อครบกำหนดประกาศแล้วให้เลขานุการนำใบสมัครและหนังสือคัดค้านของสมาชิก (ถ้ามี) เสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการเพื่อพิจารณาอนุมัติว่า จะรับหรือไม่รับเข้า                  เป็นสมาชิกสมาคม และเมื่อคณะกรรมการพิจารณาการสมัครแล้ว ผลเป็นประการใดให้เลขานุการเป็นผู้แจ้งให้ผู้สมัครทราบโดยเร็ว

ข้อ 9. ถ้าคณะกรรมการพิจารณาอนุมัติให้รับผู้สมัครเข้าเป็นสมาชิก ก็ให้ผู้สมัครนั้นชำระเงินค่าลงทะเบียนและค่าบำรุงสมาคมให้เสร็จภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งจาก                 เลขานุการ และสมาชิกภาพของผู้สมัครให้เริ่มนับตั้งแต่วันที่ผู้สมัครได้ชำระเงินค่าลงทะเบียน และค่าบำรุงสมาคมเป็นที่เรียบร้อยแล้ว แต่ถ้าผู้สมัครไม่ชำระเงินค่าลง                     ทะเบียนและค่าบำรุงภายในกำหนด ก็ให้ถือว่าการสมัครคราวนั้นเป็นอันยกเลิก

ข้อ 10. สมาชิกภาพของสมาชิกกิตติมศักดิ์ ให้เริ่มนับตั้งแต่วันที่หนังสือตอบรับคำเชิญของผู้ที่คณะกรรมการได้พิจารณาลงมติให้เชิญเข้าเป็นสมาชิกของสมาคม ได้มาถึงยัง                     สมาคม

ข้อ 11. สมาชิกภาพของสมาชิกให้สิ้นสุดลงด้วยเหตุดังต่อไปนี้

    11.1 ตาย

    11.2 ลาออก โดยยื่นหนังสือเป็นลายลักษณ์อักษรต่อคณะกรรมการ และคณะกรรมการได้พิจารณาอนุมัติ และสมาชิกผู้นั้นได้ชำระหนี้สินที่ยังติดค้างอยู่กับสมาคมเป็นที่                      เรียบร้อย

    11.3 เลิกประกอบอาชีพ

    11.4 ต้องคำพิพากษาจนถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่ความผิดที่เป็นลหุโทษ หรือความผิดที่กำหนดโทษชั้นลหุโทษ หรือความผิดอันได้กระทำโดยประมาท

    11.5 ค้างชำระค่าบำรุง หรือหนี้สินอื่นแก่สมาคม

    11.6 คณะกรรมการลงมติให้ขาดจากสมาชิกภาพ โดยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของจำนวนกรรมการ เพราะเหตุใด ๆ ดังนี้

           *มีความประพฤติในทางอาจนำมาซึ่งความเสื่อมเสียแก่สมาคม

           *ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามระเบียบของสมาคม ข้อบังคับหรือคำสั่งอันชอบของคณะกรรมการ

ข้อ 12. สิทธิและหน้าที่ของสมาชิก

    12.1 มีสิทธิเข้าในสถานที่ของสมาคมโดยเท่าเทียมกัน

    12.2 มีสิทธิเสนอความคิดเห็นเกี่ยวกับการดำเนินการของสมาคมต่อคณะกรรมการ

    12.3 มีสิทธิได้รับสวัสดิการต่างๆ ที่สมาคมได้จัดให้มีขึ้น

    12.4 มีสิทธิเข้าร่วมประชุมใหญ่ของสมาคม

    12.5 สมาชิกสามัญมีสิทธิในการเลือกตั้ง หรือได้รับการเลือกตั้ง หรือแต่งตั้งเป็นกรรมการสมาคม และมีสิทธิออกเสียงลงมติต่างๆ ในที่ประชุมได้คนละ 1 คะแนนเสียง

    12.6 มีสิทธิร้องขอต่อคณะกรรมการ เพื่อตรวจสอบเอกสารและบัญชีทรัพย์สินของสมาคม

    12.7 มีสิทธิเข้าชื่อร่วมกันอย่างน้อย 1 ใน 5 ของสมาชิกสามัญทั้งหมด หรือสมาชิกไม่น้อยกว่า 100 คน ทำหนังสือร้องขอต่อคณะกรรมการให้จัดประชุมใหญ่วิสามัญได้

    12.8 มีหน้าที่จะต้องปฏิบัติตามระเบียบปฏิบัติ และข้อบังคับของทางสมาคมโดยเคร่งครัด

    12.9 มีหน้าที่ประพฤติตนให้สมเป็นเกียรติที่เป็นสมาชิกของสมาคม

    12.10 มีหน้าที่ให้ความร่วมมือและสนับสนุนการดำเนินกิจการต่างๆ ของสมาคม

    12.11 มีหน้าที่ร่วมกิจกรรมที่สมาคมได้จัดให้มีขึ้น

    12.12 มีหน้าที่ช่วยเผยแพร่ชื่อเสียงของสมาคมให้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย

    12.13 สมาชิกวิสามัญไม่มีสิทธิและหน้าที่ในข้อที่ 12.5 และข้อ 12.7

หมวดที่ 3 การดำเนินกิจการสมาคม

ข้อ 13. ให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่ง ทำหน้าที่บริหารกิจการของสมาคมฯ มีจำนวนอย่างน้อย 8 คน อย่างมากไม่เกิน 15 คน คณะกรรมการนี้ได้มาจากการเลือกตั้งของที่ประชุม                ใหญ่ของสมาคมฯจำนวน 10 คน โดยสมาชิกสามัญที่ได้รับการเสนอชื่อเพื่อเลือกตั้งต้องปรากฏตัวอยู่ในที่ประชุมใหญ่ด้วย และให้ผู้ที่ได้รับเลือกตั้งจากที่ประชุมใหญ่                  เลือกตั้งกันเองเป็นนายกสมาคม 1 คน และอุปนายก 1 คน และให้กรรมการที่ได้รับเลือก 10 คนนี้ ประชุมเลือกกรรมการเพิ่มเติมได้ โดยถือคะแนนเสียง 2 ใน 3 ของ                คณะกรรมการที่ประชุม สำหรับการแต่งตั้งกรรมการในตำแหน่งอื่นๆ ให้นายกเป็นผู้แต่งตั้งผู้ที่ได้เป็นกรรมการเข้าดำรงตำแหน่งต่างๆ ของสมาคมฯ ตามที่ได้กำหนดไว้                  ซึ่งตำแหน่งของคณะกรรมการสมาคมมีตำแหน่งและหน้าที่โดยสังเขป ดังต่อไปนี้

    13.1 นายกสมาคม ทำหน้าที่เป็นหัวหน้าในการบริหารกิจการของสมาคมเป็นผู้แทนสมาคมในการติดต่อกับบุคคลภายนอกและทำหน้าที่เป็นประธานในที่ประชุมคณะกรรมการ                และการประชุมใหญ่ของสมาคม

    13.2 อุปนายก ทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยนายกสมาคมในการบริหารกิจการสมาคม ปฏิบัติตามหน้าที่ที่นายกสมาคมได้มอบหมายและทำหน้าที่แทนนายกสมาคม เมื่อนายกสมาคม                  ไม่อยู่หรือไม่สามารถจะปฏิบัติหน้าที่ได้ แต่การทำหน้าที่แทนนายกสมาคม ให้อุปนายกตามลำดับตำแหน่งเป็นผู้กระทำการแทน

    13.3 เลขานุการ ทำหน้าที่เกี่ยวกับงานธุรการของสมาคมทั้งหมด เป็นหัวหน้าเจ้าหน้าที่ของสมาคมในการปฏิบัติกิจการของสมาคม และปฏิบัติตามคำสั่งของนายกสมาคม                    ตลอดจนทำหน้าที่เป็นเลขานุการในการประชุมต่างๆ ของสมาคม

    13.4 เหรัญญิก มีหน้าที่เกี่ยวกับการเงินทั้งหมดของทางสมาคม เป็นผู้จัดทำบัญชีรายรับรายจ่าย บัญชีงบดุล และจัดเตรียมสถานที่ประชุมต่างๆ ของสมาคมไว้เพื่อตรวจสอบ

    13.5 ปฏิคม มีหน้าที่ในการต้อนรับแขกของสมาคม เป็นหัวหน้าในการจัดเตรียมสถานที่ของสมาคม และจัดเตรียมสถานที่ประชุมต่างๆ ของสมาคม

    13.6 นายทะเบียน มีหน้าที่เกี่ยวกับทะเบียนสมาชิกทั้งหมดของสมาคมประสานงานกับเหรัญญิกในการเรียกเก็บเงินค่าบำรุงสมาคมจากสมาชิก

    13.7 ประชาสัมพันธ์ มีหน้าที่เผยแพร่กิจการ และชื่อเสียงเกียรติคุณของสมาคมให้สมาชิกและบุคคลโดยทั่วไปให้เป็นที่รู้จักแพร่หลาย

    13.8 กรรมการตำแหน่งอื่นๆ ตามความเหมาะสม ซึ่งคณะกรรมการเห็นสมควรกำหนดให้มีขึ้นโดยมีจำนวนเมื่อรวมกับตำแหน่งกรรมการตามข้างต้นแล้วจะต้องไม่เกินจำนวนที่                ข้อบังคับได้กำหนดไว้ แต่ถ้าคณะกรรมการมิได้กำหนดตำแหน่งถือว่าเป็นกรรมการกลาง คณะกรรมการชุดแรก ให้ผู้เริ่มการจัดตั้งสมาคมเป็นผู้เลือกตั้ง ประกอบด้วย                    นายกสมาคม และกรรมการอื่นๆ ตามจำนวนที่เห็นสมควรตามข้อบังคับของสมาคม

ข้อ 14. คณะกรรมการของสมาคมสามารถอยู่ในตำแหน่งได้คราวละ 2 ปี แต่จะดำรงตำแหน่งได้ครั้งละไม่เกิน 2 วาระติดต่อกัน โดยวาระการดำรงตำแหน่งของคณะกรรมการชุด               ใหม่ให้เริ่มมีผลนับตั้งแต่วันเลือกตั้งทันที และให้คณะกรรมการชุดเก่าและชุดใหม่ทำการส่งมอบงานกันภายใน 30 วัน นับตั้งแต่คณะกรรมการชุดใหม่ได้รับเลือกตั้ง

ข้อ 15. ตำแหน่งกรรมการสมาคม ถ้าต้องว่างลงก่อนครบกำหนดตามวาระก็ให้คณะกรรมการแต่งตั้งสมาชิกสามัญคนใดคนหนึ่งที่เห็นสมควรเข้าดำรงตำแหน่งแทนตำแหน่งที่ว่าง               ลงนั้น แต่ผู้ดำรงตำแหน่งแทนอยู่ในตำแหน่งได้เท่ากับวาระของผู้ที่ตนแทนเท่านั้น

ข้อ 16. กรรมการอาจจะพ้นจากตำแหน่ง ซึ่งมิใช่เป็นการออกตามวาระด้วยเหตุผลต่อไปนี้ คือ

    16.1 ตาย

    16.2 ลาออก

    16.3 ขาดจากสมาชิกภาพ

    16.4 ที่ประชุมลงมติให้ออกจากตำแหน่ง

ข้อ 17. กรรมการที่ประสงค์จะลาออกจากตำแหน่งกรรมการให้ยื่นใบลาออกเป็นลายลักษณ์อักษรต่อคณะกรรมการ และให้พ้นจากตำแหน่งเมื่อคณะกรรมการมีมติให้ออก

ข้อ 18. อำนาจและหน้าที่ของคณะกรรมการ

    18.1 มีอำนาจออกระเบียบปฏิบัติต่างๆ เพื่อให้สมาชิกได้ปฏิบัติ โดยระเบียบปฏิบัตินั้นจะต้อง ไม่ขัดต่อข้อบังคับฉบับนี้

    18.2 มีอำนาจแต่งตั้งและถอดถอนเจ้าหน้าที่สมาคม

    18.3 มีอำนาจแต่งตั้งคณะกรรมการที่ปรึกษา หรืออนุกรรมการได้ แต่กรรมการที่ปรึกษาหรืออนุกรรมการ จะสามารถอยู่ในตำแหน่งได้ไม่เกินวาระของคณะกรรมการที่แต่ง                    ตั้ง

    18.4 มีอำนาจเรียกประชุมใหญ่สามัญประจำปี และประชุมใหญ่วิสามัญ

    18.5 มีอำนาจแต่งตั้งกรรมการในตำแหน่งอื่นๆ ที่ยังมิได้กำหนดไว้ในข้อบังคับนี้

    18.6 มีอำนาจบริหารกิจการของสมาคม เพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ ตลอดจนมีอำนาจอื่นๆ ตามที่ข้อบังคับได้กำหนดไว้

    18.7 มีหน้าที่รับผิดชอบในกิจการทั้งหมด รวมทั้งการเงินและทรัพย์สินทั้งหมดของสมาคม

    18.8 มีหน้าที่จัดให้มีการประชุมใหญ่วิสามัญ ตามที่สมาชิกสามัญจำนวน 1 ใน 3 ของสมาชิกทั้งหมด ได้เข้าชื่อร้องขอให้จัดประชุมใหญ่วิสามัญขึ้น  ซึ่งการนี้จะต้อง                         จัดให้มีการประชุมใหญ่วิสามัญขึ้นภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันที่ได้รับหนังสือร้องขอ

    18.9 มีหน้าที่จัดทำเอกสารหลักฐานต่างๆ ทั้งที่เกี่ยวกับการเงิน ทรัพย์สินและการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ของสมาคมให้ถูกต้องตามหลักวิชาการ และสามารถจะให้สมาชิก                      ตรวจดู ได้เมื่อสมาชิกร้องขอ

    18.10 จัดทำบันทึกการประชุมต่างๆ ของสมาคม เพื่อเก็บไว้เป็นหลักฐานและจัดส่งให้สมาชิกได้รับทราบ

    18.11 มีหน้าที่อื่นๆ ตามที่ข้อบังคับได้กำหนดไว้

ข้อ 19. คณะกรรมการจะต้องประชุมกันอย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง โดยให้จัดขึ้นภายในวันที่ 15 ของทุกๆ เดือน ทั้งนี้เพื่อปรึกษาหารือเกี่ยวกับการบริหารกิจการของสมาคม

ข้อ 20. การประชุมคณะกรรมการ จะต้องมีคณะกรรมการเข้าร่วมประชุมไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งของกรรมการทั้งหมด จึงจะถือว่าครบองค์ประชุม  มติของที่ประชุมคณะกรรมการ                     ถ้าข้อบังคับมิได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่น ก็ให้ถือคะแนนเสียงมากเป็นเกณฑ์ แต่ถ้าคะแนนเสียงเท่ากัน ก็ให้ประธานในที่ประชุมเป็นผู้ชี้ขาด

ข้อ 21. ในการประชุมคณะกรรมการ ถ้านายกสมาคมและอุปนายกสมาคมไม่อยู่ในที่ประชุม หรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ก็ให้คณะกรรมการที่เข้าร่วมประชุมในคราวนั้น                       เลือกตั้งกันเอง เพื่อให้กรรมการคนใดคนหนึ่งทำหน้าที่เป็นประธานในการประชุมคราวนั้น

หมวดที่ 4 การประชุมใหญ่

ข้อ 22. การประชุมใหญ่ของสมาคม 2 ชนิด คือ

    22.1 ประชุมใหญ่สามัญ

    22.2 ประชุมใหญ่วิสามัญ

ข้อ 23. คณะกรรมการจะต้องจัดให้มีการประชุมใหญ่สามัญประจำปีๆ ละ 1 ครั้ง ภายในเดือน มีนาคม ของทุกๆ ปี

ข้อ 24. การประชุมใหญ่วิสามัญ อาจจะมีขึ้นได้ก็โดยเหตุที่คณะกรรมการเห็นควรจัดให้มีขึ้นหรือเกิดขึ้นด้วยการเข้าชื่อร่วมกันของสมาชิกไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของสมาชิก                       สามัญทั้งหมด หรือสมาชิกจำนวนไม่น้อยกว่า 100 คน ทำหนังสือร้องขอต่อคณะกรรมการให้จัดให้มีขึ้น

ข้อ 25. การแจ้งกำหนดนัดประชุมใหญ่ให้เลขานุการเป็นผู้แจ้งกำหนดนัดประชุมใหญ่ให้สมาชิกได้ทราบ และการแจ้งจะต้องแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษรโดยระบุวัน เวลา และ                     สถานที่ให้ชัดเจน โดยจะต้องแจ้งให้สมาชิกได้ทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 7 วัน และประกาศแจ้งกำหนดนัดประชุมไว้ ณ สำนักงานของสมาคมเป็นเวลาไม่น้อยกว่า                     7 วัน ก่อนถึงกำหนดประชุมใหญ่

ข้อ 26. การประชุมใหญ่สามัญประจำปี จะต้องมีวาระการประชุมอย่างน้อยดังต่อไปนี้

    26.1 แถลงกิจการที่ผ่านมาในรอบปี

    26.2 แถลงบัญชีรายรับ รายจ่าย และบัญชีงบดุลของปีที่ผ่านมาให้สมาชิกรับทราบ

    26.3 เลือกตั้งคณะกรรมการชุดใหม่ เมื่อครบกำหนดวาระ

    26.4 เลือกตั้งผู้สอบบัญชี

    26.5 เรื่องอื่นๆ ถ้ามี

ข้อ 27. ในการประชุมใหญ่สามัญประจำปี หรือการประชุมใหญ่วิสามัญจะต้องมีสมาชิกสามัญเข้าร่วมประชุมไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามของสมาชิกสามัญทั้งหมด จึงจะถือว่าครบองค์               ประชุม แต่ถ้าเมื่อถึงกำหนดเวลาประชุมยังมีสมาชิกสามัญเข้าร่วมประชุมไม่ครบองค์ประชุม ให้คณะกรรมการของสมาคม เรียกประชุมใหญ่อีกครั้ง โดยจัดให้มีการ                       ประชุมขึ้นภายใน 14 วัน นับแต่วันที่นัดประชุมครั้งแรก สำหรับการประชุมในครั้งหลังนี้ ถ้ามีสมาชิกสามัญเข้าร่วมประชุมเป็นจำนวนเท่าใด ก็ให้ถือว่าครบองค์ประชุม                   ยกเว้นถ้าเป็นการประชุมใหญ่วิสามัญที่เกิดขึ้นจากการร้องขอของสมาชิก ก็ไม่ต้องจัดประชุมใหญ่ ให้ถือว่าการประชุมเป็นอันยกเลิก

ข้อ 28. การลงมติต่างๆ ในที่ประชุมใหญ่ ถ้าข้อบังคับมิให้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่น ก็ให้ถือคะแนนเสียงข้างมากเป็นเกณฑ์ แต่ถ้าคะแนนเสียงที่ลงมติมีคะแนนเสียงเท่ากัน ก็ให้                   ประธานในการประชุมเป็นผู้ชี้ขาด

ข้อ 29. ในการประชุมใหญ่ของสมาคม ถ้านายกสมาคม และอุปนายกสมาคมไม่มาร่วมประชุม หรือไม่สามารถจะปฏิบัติหน้าที่ได้ ก็ให้ที่ประชุมใหญ่ทำการเลือกตั้งคณะกรรมการ               ที่มาร่วมประชุมคนใดคนหนึ่ง ให้ทำหน้าที่เป็นประธานในการประชุมคราวนั้น

หมวดที่ 5 การเงินและทรัพย์สิน

ข้อ 30. การเงินและทรัพย์สินทั้งหมดให้อยู่ในความรับผิดชอบของคณะกรรมการ เงินสดของสมาคมถ้ามีให้นำฝากไว้ในธนาคาร กรุงเทพ สาขาถนนลาดปลาเค้า

ข้อ 31. การลงนามในตั๋วเงินหรือเช็คของสมาคม จะต้องมีรายมือชื่อของนายกสมาคม หรือ ผู้ทำการแทนลงนามร่วมกับเหรัญญิก หรือเลขานุการ พร้อมกับประทับตราของ                       สมาคมจึงจะถือว่าใช้ได้

ข้อ 32. ให้นายกสมาคมมีอำนาจสั่งจ่ายเงินของสมาคมได้ครั้งละไม่เกิน 10,000 บาท (หนึ่งหมื่นบาทถ้วน) ถ้าเกินกว่านั้นจะต้องได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการในที่ประชุม                     กรรมการจำนวน 2 ใน 3 ของคณะกรรมการ

ข้อ 33. ให้เหรัญญิก มีอำนาจเก็บรักษาเงินสดของสมาคมไม่เกิน 2,000 บาท (สองพันบาทถ้วน) ถ้าเกินกว่าจำนวนนี้  จะต้องนำฝากธนาคารในบัญชีของสมาคมทันทีที่                       โอกาสอำนวยให้

ข้อ 34. เหรัญญิก จะต้องทำบัญชีรายรับ รายจ่าย และบัญชีงบดุลให้ถูกต้องตามหลักวิชาการ การรับหรือจ่ายเงินทุกครั้ง จะต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ ลงลายมือชื่อของนายก                 สมาคม หรือ ผู้ทำการแทนร่วมกับเหรัญญิก หรือ ผู้ทำการแทน  พร้อมกับประทับตราของสมาคมทุกครั้ง

ข้อ 35. ผู้สอบบัญชี จะต้องมิใช่กรรมการหรือเจ้าหน้าที่ของทางสมาคม และจะต้องเป็นผู้สอบบัญชีที่ได้รับอนุญาต

ข้อ 36. ผู้สอบบัญชี มีอำนาจหน้าที่จะเรียกเก็บเอกสารที่เกี่ยวกับการเงินและทรัพย์สินจากคณะกรรมการและสามารถจะเชิญกรรมการ หรือเจ้าหน้าที่ของสมาคมเพื่อสอบถาม                   เกี่ยวกับบัญชีและทรัพย์สินของสมาคมได้

ข้อ 37. คณะกรรมการจะต้องให้ความร่วมมือกับผู้สอบบัญชี เมื่อได้รับการร้องขอ

หมวดที่ 6 การเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อบังคับและการเลิกสมาคม

ข้อ 38. ข้อบังคับของสมาคมจะเปลี่ยนแปลงแก้ไขได้โดยมติของที่ประชุมใหญ่เท่านั้น และองค์ประชุมใหญ่จะต้องมีสมาชิกสามัญเข้าร่วมการประชุมไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งของ                   สมาชิกทั้งหมด มติของที่ประชุมใหญ่ในการให้เปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อบังคับ จะต้องมีคะแนนเสียงจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามของสมาชิกที่เข้าร่วมประชุมทั้งหมด

ข้อ 39. การเลิกสมาคมจะเลิกได้ก็โดยมติของที่ประชุมใหญ่ของสมาคม ยกเว้นเป็นการเลิกเพราะเหตุของกฎหมาย มติของที่ประชุมใหญ่ที่ให้เลิกสมาคมจะต้องมีคะแนนเสียง                  ไม่น้อยกว่า 3 ใน 4 ของสมาชิกสามัญที่เข้าร่วมประชุมทั้งหมด และองค์ประชุมใหญ่จะต้องไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งของสมาชิกสามัญทั้งหมด

ข้อ 40. เมื่อสมาคมต้องเลิก ไม่ว่าด้วยเหตุใดๆ ก็ตาม ทรัพย์สินของสมาคมที่เหลืออยู่หลังจากที่ได้ชำระบัญชีเป็นที่เรียบร้อยแล้วให้ตกเป็นของ สมาคมคนพิการแห่ง                             ประเทศไทย (ผู้รับต้องมีฐานะเป็นนิติบุคคลที่มีวัตถุประสงค์เพื่อการกุศลสาธารณประโยชน์)

หมวดที่ 7 บทเฉพาะกาล

ข้อ 41. ข้อบังคับฉบับนี้นั้น ให้เริ่มใช้บังคับได้นับตั้งแต่วันที่สมาคมได้รับอนุญาตให้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลเป็นต้นไป

ข้อ 42. เมื่อสมาคมได้รับอนุญาตให้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลจากทางราชการ ก็ให้ถือว่าผู้เริ่มการทั้งหมดเป็นสมาชิกสามัญ

 

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save